20 December 2006

09 ลืม

กระต่ายมีความสุขมากจริงๆ
เด็กน้อยร่าเริง เดินไกวแขนพลางพูดเสียงแจ๋วๆ ไม่หยุด
สุดคะเนอดขำไม่ได้ เอ็นดูแกมอ่อนใจ ได้แต่ยิ้ม เดินตามเงียบๆ

ผ่านตลาดสด (กระต่ายพาลงเร็วตั้งป้ายนึง)เด็กผมเปียรีบบอก
“รอแป้บนะคะ กระต่ายซื้อของก่อน”

“อะไรหรือคะ”

“น่า แป้บเดียว”
เด็กกระต่ายวิ่งเข้าไปใต้หลังคามัวๆ ที่จริงถ้าเข้าข้างในก็จะสว่างไสวด้วยแสงนีออน
ไม่ถึงห้านาทีก็กลับออกมาพร้อมถุงผัก

“กระต่ายชอบแผงเจ๊เฮี้ยงจัง ซื้ออะไรก็แถม ดูสิ บอกว่าเอานิดเดียวๆยังให้มาตั้งเยอะ”
หนูน้อยอวดผักเขียวๆ หลายชนิดในถุง

“ซื้ออะไรมาเยอะแยะฮึ”

“...เดี๋ยวจะทำอะไรให้ชิม”

“ไข่เจียวเหรอ” สุดคะเนยิ้ม
“ซื้อแกงถุงก็ได้นะ ข้ามไปฝั่งโน้น หรือจะเลยไปในซอยพระครูก็ได้ อยากกินอะไรล่ะ”

“ไม่เอา” กระต่ายส่ายหน้า “วันนี้จะโชว์ฝีมือ”

ถึงห้องพัก
กระต่ายรีบไขเข้าห้องตัวเอง
พลางบอกว่าเดี๋ยวจะยก “เตา” ไปปรุงที่ห้องโน้น
ห้ามก็ไม่ฟัง สุดคะเนเบื่อจนขำ

“เอาเถอะ อยากทำอะไรก็ทำ ออกมาไม่ดีพี่พูดตามตรงนะ”

“เจ้าค่ะ”
แล้วผลุบหายไปอย่างรวดเร็ว

สุดคะเนเปิดเข้าห้องตัวเอง
ก่อนขึ้นชั้นบนมีจดหมายมาถึง 2 ฉบับ
จากพี่ดาวและ The Moon

อย่างลังเล...สุดคะเนหยิบจดหมายพี่ดาวขึ้น

แต่แล้วก็วางลง

...เปิดจดหมายของพระจันทร์


[วันที่ดวงตะวันยังยิ้มอุ่น / สุดคะเนจ๊ะ

ความฝันของเธอน่ารักนะ
ชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ นั่นแหละที่ฉันเชื่อว่าเหมาะสมกับมนุษย์
ความทะเยอทะยานแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าความรุ่มร้อน
และรีบเร่งไปข้างหน้า จนลืมรายละเอียดของชีวิตที่มักกระเซ็นอยู่ข้างทาง
ชีวิตจึงขาดความละมุนละไมไปอย่างน่าเสียดาย

คะเนทำได้แน่ ฉันเชื่อ จะเอาใจช่วยให้เก็บเงินปลูกบ้านได้เร็วๆ...
อย่าลืมชวนไปกินก๋วยเตี๋ยวก็แล้วกันนะจ๊ะ

อยากฟังเรื่องบ้านริมคลอง เล่าให้ฟังบ้างสิ
คงมีเรื่องเก่าๆ ที่สวยงามฝังใจอยู่มากมายใช่ไหม
เพราะคิดว่าคะเนเป็นคนรักบ้านนะสิ

หน้าบ้านหลังเก่าของฉันก็มีสระใหญ่ ดอกบัวสะพรั่ง
ยังจำได้ว่ามีกุ้งฝอยดีดตัวขึ้นมาค้างบนใบบัว
งงอยู่พักเดียวก็ดีดตัวกลับลงน้ำใหม่

ฝูงปลาเข็มชอบว่ายมาเที่ยวริมตลิ่ง
ลุงบ้านข้างๆ ชอบมาวางเบ็ดราว ได้ปลาช่อน ปลาหมอ ไปแกงเป็นประจำ

ตอนเล็กๆ ฉันจะคาดข้าวใส่ชามถือร่อนไปร่อนมาอยู่แถวสระน้ำ
เป็นชั่วโมงกว่าจะกินหมด จนแม่ต้องตะโกนดุมาจากบ้าน
เดี๋ยวนี้กลับไปดู สระน้ำถูกถมหมดแล้ว เขาใช้ที่สร้างเป็นสถานที่ราชการ
ต้นก้ามปูใหญ่กับต้นสักที่ยืนให้ร่มครึ้มก็พลอยหายไปด้วย
เห็นครั้งแรกฉันยืนงง นึกว่าไปดูผิดที่

เดินเลยบ้านเก่าไปถึงริมแม่น้ำที่เคยขี่จักรยานมาดูตะวันตกดิน
ก็มีแพร้านอาหารจอดอยู่ มีเก้าอี้นั่งใต้ร่มดอกเห็ด ฝาขวดเหล้าเบียร์เกลื่อนพื้น
ฝั่งตรงข้ามที่เคยเป็นสวนผักของชาวบ้านดูเขียวสดไปทั้งแถบ
ก็มีโรงงานน้ำอัดลมมาตั้งแทน

สะพานข้ามแม่น้ำยังอยู่ แต่ก็เก่าแสนเก่า

เหมือนผู้เฒ่าที่ยืนมองความเป็นไปของลูกหลาน แล้วถอนใจ เหนื่อยหน่ายชีวิต

เคยรู้สึกโกรธ แต่ไม่รู้จะโกรธใครหรืออะไร หรือเปล่า...

ฉันรู้สึกเหมือนสมบัติของตัวเองถูกทำลาย แต่ไม่รู้จะไปเรียกร้องเอากับใครที่ไหน
ได้แต่หันหลังด้วยความเศร้าใจอย่างมากมาย ไม่รู้จะระบายให้ใครฟัง...]


“มาแล้วจ้า”
เด็กกระต่ายหอบของเต็มสองแขนโผล่มา

สุดคะเนรีบลุก เก็บจดหมายที่ยังอ่านไม่จบ วางบนโต๊ะเขียนหนังสือ

“เอาอะไรมาเยอะแยะ”

“ไม่เห็นเยอะเลย ก็มีกระทะไฟฟ้า เครื่องปรุง น้ำพริกแกงตำมาเรียบร้อยค่ะ”
กระต่ายคล่องแคล่ว สุดคะเนเข้าช่วยรับของ
ไม่นานนัก ทั้งสองก็นั่งจ้องหม้อแกงที่เดือดปุดๆ ส่งกลิ่นหอมแปลกจมูก

“แกงอะไรคะ แปลกดี ไม่เคยกินมาก่อน”

“ฟะคะเนกู่” กระต่ายตอบ

“มีคำว่าคะเนด้วยนะเนี่ย…เป็นแกงมอญค่ะ
จริงๆ แล้วเค้าใส่ปลาย่างนะ แต่เค็นเคยประยุกต์ใช้ปลากระป๋องแทน”
กระต่ายอธิบาย พลางคนแกงไปมา
“ทำง่ายค่ะ ใส่น้ำพริกแกง ใส่ผัก แต่ที่ขาดไม่ได้คือใบกระเจี๊ยบอ่อน”

“หอมดีนะ”
สุดคะเนมองหน้าเด็กผมเปีย คงหมั่นชะโงกมากไป ถูกไอร้อนจนแก้มแดงเชียว

“ไหนเค็นว่ากระต่ายทำอะไรไม่เป็น ทำกับข้าวได้นี่”

“ถ้าเค็นอยู่ เรื่องอะไรกระต่ายจะทำ”

“อ้าว เจ้าเล่ห์นี่เรา” สุดคะเนยื่นมือไปยีผม

กระต่ายทำหน้าตะลึงอีกแล้ว ปล่อยช้อนตกลงในน้ำแกง
เผลอจุ่มมือคว้าตาม พลาดโดนขอบกะทะร้อนๆ

“โอ้ย!”

สุดคะเนหัวเราะเสียงดัง
“โธ่เอ๊ย! เด็กซุ่มซ่าม มานี่มา”

ขยับนิดเดียวก็อ้อมถึง ดึงมือข้างที่โดนความร้อนจนเป็นสีชมพูขึ้นเป่า
กระต่ายเบิกตากว้าง ดึงแขนกลับแต่สุดคะเนรั้งไว้

“เพี้ยง! หายนะ”

กระต่ายตัวแดง เหมือนถูกฉีดน้ำหวานเข้าในกระแสเลือด
มีความรู้สึกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนไหลเวียนแล่นพล่าน

สุดคะเนไม่คิดอะไร เห็นหน้าแหยๆ คิดเอาว่าคงแสบร้อนไม่หาย
เป่าซ้ำอีกที ลมอุ่นๆ เลาะไล้ไปบนผิวเนื้ออ่อนนุ่ม หัวใจกระต่ายแทบหยุดเต้น

“ดูทำหน้าเข้า!” สุดคะเนหัวเราะ
“ขวัญเอย ขวัญมา นี่แหละพระเจ้าไม่เข้าข้างคนเจ้าเล่ห์”

อาหารมื้อนั้นรสชาติดีทีเดียว
นอกจาก ‘ฟะคะเนกู่’ แล้วก็มีไข่เจียวอีกอย่าง
สุดคะเนเอ่ยชมไปหลายครั้ง กระต่ายแก้มแดงปลั่ง แต่เงียบกว่าเคย
จนเมื่ออิ่มแล้ว สุดคะเนรวบช้อมส้อม จิบน้ำ เหลือบตาดูเด็กข้างหน้าอย่างแปลกใจ

“ยังเจ็บอยู่เหรอ” ทำท่าจะลุกขึ้น “เอ ดูเหมือนพี่จะมียานะ”

“มะ...ไม่ต้องค่ะ”
กระต่ายรีบห้าม ใจเต้นตึกตัก จะบอกได้ยังไงว่ามีอะไรแปลกๆ
...เกิดในความรู้สึก...รุนแรงกว่าเคยเป็น

“งั้นดูอีกทีสิคะ”
สุดคะเนยื่นมือข้ามจานข้าว

“ทำไมตัวร้อนจัง กระต่าย”
คราวนี้ไม่แค่เป่าเบาๆ แต่จุ๊บบนปลายนิ้ว
และ...กระต่ายรู้สึกไปเองหรือเปล่า ริมฝีปากพี่คะเน...

“โอย...”

“เป็นอะไรคะ”

กระต่ายดึงมือกลับแทบหงายหลัง
หน้าร้อน ตัวร้อน เหมือนมีไฟวูบวาบเผาจากปลายนิ้วไปถึงไหนๆ
สุดคะเนเสียหลักตามไปด้วย แทบล้มทับโต๊ะอาหาร
กระต่ายหัวใจจะระเบิด สบตาดำเข้มที่ไม่เข้าใจอะไรสักนิด
ขณะนั้นเอง เค็นก็โผล่มาข้างหน้าต่าง

“จ๊ะเอ๋!”

กระต่ายเด้งตัวออกทันควัน

“ไอ้เค็นบ้า!”

“อ้าว!” เค็นร้อง งง “อะไรกันกระต่าย เจอหน้าก็ด่าเลยเหรอ...แล้วนั่นทำอะไรกันอะ”

“เรื่องของเค้า อย่ายุ่ง!”


เค็นเกาหัวแกรกๆ เมื่อสุดคะเนเปิดประตูห้องให้

“เป็นอะไรของเค้า”
บุ้ยบ้ายไปทางเด็กที่วิ่งเข้าห้องตัวเองไปแล้ว

“ทำกับข้าวแล้วมือพลาดไปโดนกะทะน่ะ” สุดคะเนบอก
“ดูท่าจะเจ็บมาก พี่เลยเป่าคาถาให้”

เค็นมองอีกฝ่ายด้วยสีหน้าแปลกๆ เห็นชายเสื้อของสุดคะเนเปื้อนน้ำแกงด้วย

“เค็นกินอะไรมาหรือยัง วันนี้กระต่ายทำกับข้าวนะ แกงยังมีเต็มหม้อเลย”

เค็นสูดจมูกฟุดฟิด “แกงอะไร...กลิ่นคุ้นๆ”

“ชื่อแกงอะไรน้า...มีคำว่าคะเนด้วย”

“ฟะคะเนกู่!” เค็นเบิกตากว้างกว่าเดิม “กระต่ายนะเหรอทำแกงนี้!”

“ทำไมล่ะ” สุดคะเนแปลกใจบ้าง

“เป็นอาหารมอญฮะ แต่กระต่ายไม่เคยยอมรับสักทีว่าตัวเองมีเชื้อมอญ
ปกติทำให้กินยังไม่ค่อยจะยอมกิน นี่ลงมือทำเอง...”
เค็นมองหน้าสุดคะเนอย่างครุ่นคิด

“สงสัยจะกระต่ายจะชอบคะเนมากๆ แล้วล่ะ ระวังตัวหน่อยก็ดีนะ”

“หือ?”

“ถึงกับลงมือทำอาหารที่ตัวเองเกลียด
แสดงว่าอยากสร้างความประทับใจมากๆ คะเน...”
เค็นมีสีหน้าจริงจัง

“ถ้าไม่คิดอะไรกับกระต่าย ก็อย่าทำให้มันหวังไปเรื่อยเปื่อยเลยนะ”

เค็นกลับห้องไปอีกคนแล้ว แต่สุดคะเนยังยืนที่เดิม
‘ถ้าไม่คิดอะไรกับกระต่าย ก็อย่าทำให้มันหวังไปเรื่อยเปื่อย....’
จะบ้าหรือ! เด็กคนนั้นอายุแค่ 17 เท่านั้น!


สุดคะเนลืมไปแล้วว่า เมื่ออายุเท่ากระต่าย เธอเคยมีประสบการณ์ชีวิตอย่างไร



ตีพิมพ์ครั้งแรก
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1374 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2549

No comments: